New Normal – การศึกษาใหม่
New Normal – การศึกษาใหม่
ที่ทุกคนต้องปรับตัว !
“คำว่า New Normal จริงๆ คำนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ราวปี 2007 เมื่อเศรษฐกิจได้เติบโตไปถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว จะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่สามารถกลับมาเติบโตเหมือนเดิมได้อีก ซึ่งสถานการณ์ COVID-19 ทำให้กระแสของ คำว่า New Normal ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้ ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติศัพท์ให้คำว่า New Normal แปลว่า ความปกติใหม่ , หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
รูปแบบวิถีชีวิตใหม่นี้ ประกอบด้วยวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร วิธีปฏิบัติและการจัดการ การใช้ชีวิตแบบใหม่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าจะธำรงรักษาวิถีดั้งเดิมหรือหวนหาถึงอดีต”
บทความนี้จึงขอพูดถึงการปรับตัวรูปแบบใหม่ของสถานศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราทุกคนจะต้องตื่นตัวและทำความเข้าใจ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าไปสู่ลูกหลานของเรา มาดูกันว่าสำหรับสถานศึกษานั้นต้องรับมือ และปรับตัวกันอย่างไร
โรงเรียน
- ควรเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ เพื่อซ่อมแซม ปรับปรุง ทำความสะอาด พื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่างล้างมือ ห้องน้ำให้พร้อมใช้งาน รวมถึงสบู่ล้างมือที่เพียงพอ จัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การเข้าแถว การเข้าคิว การจัดที่นั่งเรียน การจัดที่นั่งรับประทานอาหาร ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) คำแนะนำระยะห่างปลอดภัยโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ระยะห่างทางกายภาพว่าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไอ จาม และมีไข้ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรค
- เมื่อเปิดภาคเรียนต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวโรงเรียนทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้ง โดยเฉพาะพื้นผิวที่หลายคนสัมผัส เช่น ราวบันได โต๊ะอาหาร อุปกรณ์กีฬา ที่จับประตู หน้าต่าง ของเล่น เครื่องช่วยสอน อุปกรณ์ การเรียน เป็นต้น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาซักผ้าขาว 2 ฝา ต่อน้ำ 1 ลิตร (โซเดียมไฮโปคลอไรท์(Sodium hypochlorite) 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร) สำหรับการฆ่าเชื้อพื้นผิว ใช้เอทิลแอลกอฮอล์(Ethyl Alcohol) 70% สำหรับการเช็ด ฆ่าเชื้อโรคของชิ้นเล็กๆ ฯลฯ
ครูและบุคลากร
- ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ส่งเสริมให้นักเรียน เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม และหลังเล่นกับเพื่อน หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
- สอนและส่งเสริมให้นักเรียนมีของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน อุปกรณ์รับประทานอาหาร ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น พร้อมให้ความรู้ คำแนะนำ หรือจัดหาสื่อประชาสัมพันธ์ การป้องกันและลดความเสี่ยงให้แก่นักเรียน เช่น สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง การใส่หน้ากาก คำแนะนำในการปฏิบัติตัว เป็นต้น
- ควบคุมดูแล การจัดชั้นเรียน ที่นั่งในโรงอาหาร ถ้าเป็นไปได้ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือเหลื่อมเวลาในการพักรับประทานอาหารกลางวัน
นักเรียน
- ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ถ้ามีไข้ ไอ จาม เป็นหวัด หายใจเหนื่อยหอบ แจ้งผู้ปกครองให้พาไปพบแพทย์และหยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายดี ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส ใบหน้า ตาปาก จมูก โดยไม่จำเป็น อาบน้ำทันทีหลังกลับจากโรงเรียน หลังเล่นกับเพื่อน และหลังกลับจากนอกบ้าน
- ให้นักเรียนเลือกกินอาหารปรุงสุกใหม่ โดยใช้อุปกรณ์ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม นักเรียนควรมีอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวเฉพาะบุคคล เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดหรือ สถานที่ที่มีการรวมกันของคนจำนวนมาก หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหาร ครบ 5 หมู่ และผัก ผลไม้5 สีเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน และนอนหลับ ให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง/วัน
- ให้รักษาระยะห่าง การนั่งเรียน นั่งรับประทาน อาหาร เล่นกับเพื่อน อย่างน้อย 1 เมตร
ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก
- หากบุตรหลานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้พาไปพบแพทย์และหยุดเรียน จนกว่าอาการจะหายดี หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงและอยู่ใน ช่วงกักกัน ให้หยุดเรียน 14 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กรณีมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงและอยู่ในช่วงกักกัน ให้ปฏิบัติตาม คำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- ให้สมาชิกในครอบครัวล้างมือด้วยสบู่และน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม และหลีกเลี่ยงการใช้ มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น และสร้างสุขนิสัยให้บุตรหลานอาบน้ำหลังกลับจากโรงเรียน หลังเล่น กับเพื่อน และหลังกลับจากนอกบ้าน
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องเล่น ของเล่น ด้วยน้ำยา ทำความสะอาดทั่วไป และไม่พาบุตรหลานไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่ ที่มีการรวมกันของคนจำนวนมาก หากจำเป็นควรให้สวม หน้ากากอนามัย
- จัดเตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่งเสริมให้บุตร หลานกินอาหารครบ 5 หมู่ และผักผลไม้5 สี ที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ อย่างน้อยวันละ 5-4 ขีด (ตามวัย) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน และนอนหลับให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
อ้างอิงข้อมูลจาก : คู่มือการจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2ULQmEz